วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตามรอยเมืองโบราณของจันทบุรี


เมืองจันทบุรีใช่จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก ทะเล  ศูนย์การค้าอัญมณี ชมหิ่งห้อย ดำน้ำ อื่นๆ อีกมากมาย แต่เมืองจันท์ยังมีแหล่งท่องเที่ยวคือเมืองโบราณด้วย



เมืองจันทบุรีเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี ยังมีร่องรอยโบราณของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุไม่น้อยกว่า  6.000 – 4.000  ปี หลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านมานุษยวิทยา ศิลปะ และประวัติศาสตร์  แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐาน การเติบโตอย่างกว้างขวางในท้องถิ่น การติดต่อค้าขายกับต่างถิ่น การรับและถ่ายทอด การผสมผสานของวัฒนธรรม ซึ่งมีพัฒนาการยาวนานติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
การศึกษาทางด้านโบราณคดีของจันทบุรี แยกออกได้เป็น  2  ยุด คือ

1.โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ คือ ช่วงเวลาก่อนที่จะมีการบันทึกประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร ค้นพบโดยการสำรวจและขุดพบแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ จ.จันทบุรี ซึ่งค้นพบเครี่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุประมาณ 10,000-6.000 ปี มาแล้ว ต่อเนื่องถึงหินใหม่ตอนปลายมีอายุประมาณ  4.000 – 2.000  ปี มาแล้ว รวมถึงยุคโลหะที่คนรู้จักการทำสำริดและเหล็ก  คือประมาณ 1.500 ปี มาแล้ว เข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 12 ได้พบจารึกเพนียด (หลักที่ 52) ถือว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์จันทบุรีได้สิ้นสุดลง และเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์




2.โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่มีประวัติศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว หลักฐานต่างๆ เหล่านั้นตามหลักฐานประวัติศาสตร์ ได้แก่ จารึก ตำนาน พงศวดาร ปูมโหร ปูมแพทย์  บันทึกการเดินทาง จดหมายเหตุ  ซึ่งได้พบหลักฐานขุมชนสมัยประวัติศาสตร์ในจันทบุรีเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ ซึ่งจะน่ามีอายุถึงปลายสมัยฟูนัน  ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นชุมชนที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม  ศิลปะ ศาสนาจากขอมโบราณ ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศส    ชื่อ   แคมโบช เขียนโดยมองสิเออร์ เอเตียนน์ เอโมนิเออร์ ปี พ.ศ. 2444 ว่ามีบาทหลวงองค์หนึ่งพบศิลาจารึกภาษาสันสฤต ที่ ต.เขาสระบาป ในศิลาจารึกมีข้อความว่า เมื่อพันปีล่วงมาแล้วมีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า ควานบุรี เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางตั้งอยู่บริเวณบ้านเพนียด บ้านสระบาป ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 1 กม. ยาวประมาณ 2 กม. คนที่สร้างเมืองควานบุรีชื่อหาง หรือ แหง คนพื้นเมืองพวกชอง



บริเวณที่พบแหล่งโบราณสถานมี 4 แห่ง คือ
1.เนินโบราณสถานที่วัดเพนียด (ร้าง)
2.โบราณสถานเพนียด
3.เนินโบราณสถานใกล้วัดทองทั่ว
4.เนินโบราณสถานวัดสมภาร(ร้าง)

ในเนินโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดพบหลักฐานที่พบ คือ จารึก ทับหลัง เสาประดับ กรอบประตู เคยเป็นที่ตั้งวัดเพนียด ปัจจุบันเหลือเพียงเนินขนาดใหญ่ฐานล่างก่อด้วยอิฐ ลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ  4 เมตร เนินดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และยังพบร่องรอยของแนวศิลาแลงยาวประมาณ 15 เมตร  พบหลักฐานของสถาปัตยกรรม ได้แก่
-ทับหลังแบบถาลาบริวัตร และทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุก ราวพุทธศตวรรษที่ 12
-ทับหลังแบบไพรรุกเมง ราวพุทธศตวรรษที่ 13
-เสาประดับกรอบประตูในศิลปะขอม สมัยก่อนเมืองพระนคร จารึก 2 หลัก กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15
-ภาชนะดินเผาเป็นกระปุกทรงลูกจันรูปแบบอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15-16
-ไหเท้าช้าง เป็นที่นิยมในพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นมา
-พบประติมากรรมขนาดเล็กในอิทธิพลของศิลปะขอมแบบนครวัด ราว พ.ศ. 1650-1725 ประติมากรรมที่พบมีทั้งจากศิลาและทำด้วยสำริด
-เนินโบราณสถานบริเวณใกล้วัดทองทั่ว ในพื้นที่นี้ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ในบริเวณนี้ยังพบเศียรประติมากรรมรูปเคารพขนาดเล็กสลักจากศิลาทรายสีแดง เป็นศิลปะร่วมในศิลปะขอมแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18
หลักฐานที่หลงเหลือชัดเจน คือ โบราณสถานเพนียด ซึ่งใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้างทั้งหมด และเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่มีศิลปะขอมแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18 โบราณสถานเพนียดเดิมมี 2 แห่งสร้างคู่กันในแนวเหนือใต้ ปัจจุบันเหลือแห่งเดียว


ชุมชนเก่านี้เป็นชุมชนที่มีรูปแบบสังคมเกษตรกรรมได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับขอม มีคติความเชื่อทางศาสนาทั้งศาสนาพราหมณ์ พุทธ และการนับถือผีของชนพื้นเมือง เรียกว่า ชาวชอง
หลังสิ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1763) วัฒนธรรมขอมได้เสื่อมสลายลง  ก็มีการย้ายถิ่นฐานจากโบราณเสถานเพนียดมาตั้งอยู่บริเวณบ้านหัววัง ต.พุงทะลาย(ปัจจุบัน ต.จันทนิมิต) ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี และได้ขยายตัวกระจายไปตามลุ่มแม่น้ำจันทบุรี จนถึงปากอ่าว ในระยะนี้มีการกวาดต้อนคนในสมัยสงครามอยุธยา ทำให้มีหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น เช่น ลาว เขมร โดยมีคนไทยเป็นผู้ปกครอง ในชุมชนพุงทะลายนี้ได้ค้นพบหลักฐานที่เป็นชุมชนเก่าแก่มีศิลปกรรมร่วมสมัยอยุธยาตอนต้นและมีการค้นพบในเสมาหลายชิ้น


และต่อมาก็มีการย้ายตัวเมืองจันทบุรีจากพุงทะลายมายังบ้านลุ่ม เพราะมีชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า บ้านพุงทะลายเป็นที่ราบ ค่อนข้างลุ่ม มีน้ำท่วมขังเมืองมีความคับแคบ ส่วนบ้านลุ่มเป็นที่ราบลาดสูงชัน เหมาะเป็นที่อยู่อาศัยและป้องกันเมือง  การสร้างเมืองใหม่นี้ มีคูและเชิงเทินรอบเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างยาวประมาณด้านละ 60  เมตร ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ. 2199 – 2231) เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ในการส่งข่าวเหตุการณ์ในเขมรและญวน ให้ทางราชสำนักทราบ และเป็นเมืองหน้าด่าน ที่คอยป้องกันการรุกรานของเขมรและญวน ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงทรงให้สร้างกำแพงเมือง ป้อมคูเมือง หอรบตามแบบตะวันตก  ปัจจุบันยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่บริเวณค่ายตากสิน

ต่อมาในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยเกิดข้อพิพาทกับญวน เนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ผู้ปกครองเมืองเวียงจันทร์เอาใจออกห่างจากไทยไปสวามิภักดิ์กับญวน ในการทำสงครามในครั้งนั้นใช้กองทัพเรือและกองทัพบก เมืองจันทบุรีเป็นเมืองชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกอยู่ใกล้กับญวน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกรงว่าญวนจะมายึดเอาเมืองจันทบุรีเป็นที่มั่น เพื่อทำการต่อสู้กับไทย ซึ่งเมืองจันทบุรีในสมัยนั้นตั้งอยู่ในที่ลุ่มไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานทัพต่อสู้กับญวน ฉะนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง(ดิส บุนนาค) เป็นแม่กองมาสร้างป้อมค่ายและเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านเนินวง ต.บางกะจะ ซึ่งเมืองใหม่นี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเดิม ไปทิศตะวันตก 8 กม. เป็นชัยภูมิที่ดี ลักษณะของเมืองที่สร้างมีกำแพงสร้างด้วยศิลา ป้อมคู ประตู 4 ทิศ เป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 14 เส้น ยาว 15 เส้น มีปืนใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ ตามช่องใบเสมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2377  ภายในเมืองได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองดังปรากฏอยู่ในวัดโยธานิมิต ว่า ได้ฝังอาถรรพ์หลักเมืองที่บ้านเนินวง ณ วันเสาร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4  ปีมะแม จุลศักราช  1197 คลังเก็บอาวุธกระสุนปืนใหญ่และคลังดินปืน กับทั้งสร้างวัดชื่อ วัดโยธานิมิต   ขึ้นภายในเมืองใหม่นี้ด้วย และจมื่นราชามาตร์ ต่อมาเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้ให้พระยาอภัยพิพิธ(ต่อมาเป็นเจ้าเมืองตราด) เป็นแม่กองสร้างป้อมที่ด่านปากแม่น้ำแหลมสิงห์ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5  ได้พระราชทานนามภายหลังว่า ป้อมพิฆาตปัจจามิตร และบนยอดเขาแหลมสิงห์ ชื่อ ป้อมไพรีพินาศ

พอสร้างเมืองใหม่เสร็จ รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้สั่งย้ายเมืองจันทบุรีจากที่บ้านลุ่มไปอยู่ที่เมืองใหม่ และให้ประชาชนอพยพไปอยู่ที่เมืองใหม่ด้วย แต่เนื่องด้วยเมืองใหม่ ตั้งอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ  30  เมตร และตั้งอยู่ห่างจากคลองน้ำใส ซึ่งเป็นคลองน้ำจืดประมาณ 1  กม. ประชาชนมีความไม่สะดวกในเรื่องน้ำใช้ ประชาชนส่วนมากจึงยังคงอยู่ที่เมืองเก่า พวกที่อพยพ พวกที่อพยพกันมีแต่พวกข้าราชการ ปัจจุบันยังมีบุตรหลานของข้าราชการสมัยนั้นตั้งเคหะสถานอยู่ที่บ้านทำเนียบ  ต่อมาญวนตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสสงคราระหว่างไทยกับญวนก็สงบลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเลือกอยู่ได้ตามความสมัครใจ ยกเว้นจวนเจ้าเมืองยังคงอยู่บ้านเนินวงจนกระทั่ง รัชกาลที่ 5  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองกลับไปอยู่ที่บ้านลุ่มตามเดิม





จากยุคประวัติศาสตร์เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  การตั้งเมืองจันทบุรีมีการตั้งถิ่นฐาน ดังนี้
1.บริเวณบ้านเพนียด วัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์  อ.เมือง  (ขอมเรืองอำนาจ)
2.บริเวณบ้านพุงทะลาย ต.จันทนิมิต อ.เมือง (สมัยก่อนอยุธยา)
3.บริเวณบ้านลุ่ม ต.ท่าช้าง อ.เมือง (สมัยอยุธยาตอนต้น)
4.บริเวณบ้านลุ่ม ต.ท่าช้าง อ.เมือง (รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
5.บริเวณตัวเมืองจันทบุรีในปัจจุบัน (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น