วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ตำนานเมืองจันทบุรี



ตำนานเรื่องเมืองจันทบูรโบราณที่เรียกว่า เมืองกาไว มีบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณตัวหนังสือเป็นตัวหนังสือขอม สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาทรงสำรวจที่ตั้งเมืองจันทบุรีโบราณแห่งนี้ ได้นำเอาหนังสือดังกล่าวไปพร้อมกับศิลาลวดลายโบราณและแผ่นศิลาจารึกไปด้วยหลายชิ้น สมุดข่อยที่เขียนเรื่องนี้ยังเหลืออยู่ตามบ้านบ้าง แต่เก่ามากแล้ว เขียนเป็นสำเนียงคำพูดโบราณและเติมอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เพิ่มเข้าไปอีกหลายตอน ตลอดจนบอกตำราทำเสน่ห์ยาแฝด บอกวิธีปลุกเสกทำหงส์ร่อนมังกรรำไว้ด้วย ตำนานดังกล่าวเขียนไว้ดังนี้

ในกาลครั้งหนึ่ง มีกษัตริย์ผู้ครองนครชื่อนครจันทบูร ตั้งอยูที่เชิงเขาสระบาปด้านทิศตะวันตก ทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต มีเอกอัครมเหสี พระนามว่า พระนางเจ้าจงพิพัฒน์ และมีพระราชโอรสสองพระองค์ พระเชษฐาทรงพระนามว่า เจ้าบริพงษ์ พระอนุชาทรงพระนามว่า เจ้าวงษ์สุริยมาศ ต่อมาพระเอกอัครมเหสีได้สิ้นพระชนม์ลง ภายหลังจากนั้นพระเจ้าพรหมทัตได้ทรงอภิเษกพระมเหสีใหม่ นามว่า พระนางกาไว ทรงพระโฉมศิริพิลาศ เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าพรหมทัต  และมีพระโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์ พระนามว่า พระไวยทัต  พระนางกาไวเป็นผู้มีจิตริษยาในพระราชโอรสที่ประสูติจากพระนางเจ้าจงพิพัฒน์  พระนางกาไวเป็นผู้มักใหญ่ไฝ่สูงหวังจะให้พระไวยทัตได้ครองนครและพระนางจะได้มีอำนาจต่อไป ทรงคิดว่าเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสด็จสวรรคตแล้วจะวางแผนกำจัดเจ้าชายบริพงษ์และเจ้าชายวงษ์สุริยมาศ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลย่อมมีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์สมบัติมากกว่าและไม่ผู้ใดกีดขวางแผนการของตน  ความคิดนี้พระนางได้คิดมาตั้งแต่แรกที่ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าพรหมทัต ครั้นพระนางมีราชโอรสก็ทรงดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้พระเจ้าพรหมทัตที่ทรงโปรดปรานพระนางอยู่แล้วได้ลอบการทำเสน่ห์ยาแฝดให้พระสวามีทรงเสวยเพื่อให้หลงรักพระนางเพียงองค์เดียว  และเมื่อมีโอกาสคราใดก็พยายามเพ็จทูลให้พระเจ้าพรหมทัตกำจัดเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศเสีย  โดยหาเรื่องต่างๆ ว่าเจ้าชายทั้งสองพระองค์ไม่ดีต่อพระนางอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าพระเจ้าพรหมทัตจะทรงเสน่หาในพระนางกาเพียงไร ก็ยังทรงมีสติอยู่ไม่ได้ทำอะไรรุนแรงต่อพระราชโอรสทั้งสอง และพระองค์เองก็เกรงว่าพระราชโอรสทั้งสองจะถูกลอบปลงพระชนม์ พระองค์จึงชี้แจงแสดงเหตุผลต่อโอรสทั้งสองให้หลบหนีออกไปจากเมือง ทั้งๆ ที่ทรงอาลัยต่อพระราชโอรส พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์สินเงินทองและพลอยสีต่างๆ  ให้อีกองค์ละ 1 ทนาน เพื่อให้ใช้จ่ายระหว่างการเดินทาง ฝ่ายเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศ แม้ทรงทราบเบื้องหลังอยู่บ้าง แต่ด้วยความเกรงพระทัยในพระราชบิดา ทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จออกจากเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างที่เสด็จไปตามทางนั้นทรงได้รับความลำบากตรากตรำมาก จนแทบเอาพระชนม์ชีพไม่รอด เสด็จดำเนินไปจนเข้าเขตเมืองพระนคร ทรงเข้าไปประทับอยู่ในสวนของเจ้าเมืองพระนคร หลังจากนั้นก็ได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของเจ้าเมืองพระนคร
เมื่อพระนางกาไวดำเนินแผนการลุล่วงไปขั้นหนึ่งแล้ว ก็พยายามรวบรวมอำนาจต่างๆ ไว้ในมือพระนางและเกรงว่าจะชักช้า  จึงจัดการวางยาพิษ มหาไว ปลงพระชนม์พระเจ้าพรหมทัต ครั้นเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตแล้ว พระนางกาไวก็แต่งตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนและได้สถาปนาพระไวยทัตขึ้นเป็นกษัตริย์  แต่พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์อยู่ อำนาจทั้งหมดจึงตกอยู่ในมือพระนาง เมื่อมีอำนาจแล้วพระนางก็ทรงทำนุบำรุงไพร่พลให้เข้มแข็งเตรียมไว้รับศึกจากเจ้าชายบริพงษ์และเจ้าชายวงศ์สุริยมาศ

ฝ่ายเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงศ์สุริยมาศที่ทรงอยู่ที่เมืองพระนคร ทรงทราบเรื่องบิดาสวรรคตโดยพระนางกาไวเป็นผู้วางยาพิษและได้ขึ้นครองเมืองก็ไม่พอพระทัย รีบกรีฑาทัพมาเพื่อชิงเมืองคืน เพราะถือว่าพระองค์มีสิทธิ์ในราชสมบัติ กองทัพที่ยกมาคงมีกำลังน้อย ทั้งการขาดการเตรียมพร้อม เมื่อยกทัพมาอย่างรีบด่วนไพร่พลเหน็ดเหนื่อยอิดโรย และเมื่อยกมาถึงแล้วก็ส่งกองพัพเข้าตีเมืองทันที ทางฝ่ายในเมืองเตรียมพร้อมอยู่แล้ว จึงมีชัยชนะกองทัพเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศทุกครั้ง ผลที่สุดทั้งกองทัพช้าง กองทัพม้า และกองทัพคนของราชโอรสก็ต้องแตกถอย หนีกลับเมืองพระนครอย่างระส่ำระสาย

เมื่อแพ้ทัพกลับไปถึงเมืองพระนครแล้ว ก็ทะนุบำรุงให้เข้มแข็งและได้ขอกำลังไปยังกษัตริย์ขอม ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองนครธมอันเป็นเมืองหลวงมาช่วยแก้แค้นโดยให้สัญญาว่าถ้าได้เมืองคืนแล้ว จะแบ่งเมืองให้ ซึ่งกษัตริย์ขอมก็ได้ส่งกำลังมาช่วย กองทัพยกมาใหม่ครั้งนี้เดินทัพมาด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทเหมือนคราวที่แล้ว และกองทัพที่ยกมาเป็นกองทัพใหญ่ มีทหารไพร่พล ช้างม้า เป็นจำนวนมาก ยกทัพผ่านเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น บ้านกัมเรียง(พุมเวียง) บ้านบึงชะนัง  บ้านแปลง บ้านใหม่ เป็นต้น เมื่อยกกองทัพมาถึงบ้านทัพปัดตีแล้วข้ามริมคลองโป่งน้ำร้อนฝั่งบ้านกัมพุชให้หยุดกองทัพก่อน

ฝ่ายพระชายาของเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศ ซึ่งทรงมีครรภ์อยู่ได้ยกทัพหนุนตามหลังมาช่วยพระสวามี เมื่อมาทันกันที่ โป่งน้ำร้อน พระชายาทั้งสองพระองค์ได้ประสูติพระโอรสพร้อมกันทั้งสองพระองค์ จึงต้องหยุดพักกองทัพอยู่หลายวัน เมื่อพระชายาและพระโอรสทั้งสองพระองค์แข็งแรงดีแล้ว จึงยกกองทัพต่อไปบ้านหนองตาคง  บ้านคลองขวาง แล้วมาหยุดพักที่บ้านทับไทร ออกจากบ้านทับไทรมาหยุดกองทัพที่บ้านทัพนคร(อ.มะขาม) ออกจากบ้านทัพนครก็ผ่านบ้านต่างๆ ของ อำเภอมะขาม ผ่านบ้านทุ่งด่าน บ้านทุ่งหลวง บ้านแสนตอ บ้านน้ำรักและบ้านทรงสนาน(เหล่าพระวงศ์ที่ร่วมยกกองทัพมา พากันลงอาบน้ำที่แม่น้ำจันทบุรี)  ให้พนักงานตั้งด่านเก็บส่วยที่บ้านเกาะส่วย (ตำบลท่าหลวงเก่า) แล้วยกทัพมาบ้านพลับพลาให้ตั้งมั่นอยู่บริเวณหนองทัพมั่น(อยู่ทางทิศเหนือของโรงเรียนวัดพลับพลาประมาณ 1 กิโลเมตร) ให้ไพร่พลขุดสระเพื่อใช้น้ำในกองทัพทั่วทั้งตำบลพลับพลาที่กองแยกย้ายไปตั้งอยู่ และได้ตั้งพลับพลาขึ้นที่บริเวณหนองพลับพลา(อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดพลับพลา

ครั้นแล้วเจ้าชายทั้งสองพระองค์ก็จัดกองทัพเข้าตีเมืองกาไว เป็นรูปปีกกาเรียงลำดับทหารไพร่พล ทัพช้าง ทัพม้า ตามแผนยุทธศาสตร์สมัยนั้น พี่ชาย(เจ้าบริพงษ์) ได้ยกกองทัพเข้าตีทางปีกซ้ายด้านทิศตะวันออกโอบเข้าไปสกัดและโจมตีทางทิศใต้ของเมือง แล้วตั้งมั่นอยู่บริเวณนั้นพร้อมทั้งสั่งไพร่พลให้ขุดสระน้ำเพื่อใช้สอยในกองทัพ สระแห่งนี้ได้ชื่อว่า หนองพี่ชาย(ปัจจุบันนี้เรียกว่าหนองขี้ควาย) เพราะฝูงควายผ่านและอาศัยน้ำในหนองน้ำ หนองน้ำนี้อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเพนียดหรือเมืองกาไว ส่วนน้องชาย(เจ้าวงษ์สุริยมาศ)ยกกองทัพเข้าตีทางด้านปีกขวา เดินทัพทางทิศเหนือแล้วตีโอบล้อมไปทางทิศตะวันตกของเมือง ปลายปีกทัพและทัพหนุนมาจรดกันริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี  เพื่อตีล้อมหนุนเข้าไปที่บ้านลาว (ปัจจุบันนี้มีชื่อเรียกว่า บ้านลาว อยู่ในหมู่ที่ 13 ของตำบลพลับพลา)   กองทัพขอมได้ตั้งมั่นที่บ้านขอม (อยู่ถัดไปจากบ้านขอมลงไป อยู่หมู่ที่ 1 ของตำบลจันทนิมิต ริมแม่น้ำจันทบุรี)

ข้างฝ่ายในเมืองคงจะประมาท เพราะเคยชนะมาคราวหนึ่งแล้ว ถึงแม้ว่าฝ่ายเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศ จะส่งทูตมาเจรจาขอตกลงโดยดีก็หาได้ตกลงด้วยไม่ ราชโอรสทั้งสองจึงยกกองทัพเข้าโจมตี ฝ่ายพระนางกาไวได้เตรียมกองทัพไว้สู้รบและป้องกันเมืองไว้ทุกด้าน  ทหารเริ่มรบปะทะกันที่ห้วงทำการ (ปัจจุบันนี้เรียกว่า ห้วงธรรมการ อยู่ระหว่างตำบลพลับพลาและตำบลคลองนารายณ์ทางทิศเหนือของเมือง) แล้วกองทัพทั้งสองฝ่ายก็ทำการสู้รบกันทุกด้าน ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของเมืองรบกันรุนแรงที่สุด ทางด้านทิศตะวันตกช้างทรงของเจ้าวงษ์สุริยมาศพบกับช้างทรงของเจ้าไวยทัต  ทั้งสองขับช้างเข้าชนกันด้วยความสามารถ ช้างของเจ้าไวยทัตเสียท่า เจ้าวงษ์สุริยมาศได้ทีก็ฟันด้วยของ้าว (หอกด้ามยาว)  ถูกเจ้าไวยทัตสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ช้างวิ่งหนีกลับเข้าไปในเมือง  ทหารไพร่พลก็รบกันอย่างตะลุมบอน  ทหารของเจ้าไวยทัตก็แตกพ่ายถอยหนีเข้าไปในเมือง บริเวณที่ช้างของเจ้าวงษ์สุริยมาศกับช้างของเจ้าไวยทัตชนกันจนทัพแตก เรียกว่า เกาะทัพแตก (ปัจจุบันนี้เรียกว่า  เกาะตะแบก อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดทองทั่ว) 

เมื่อพระนางกาไวทราบว่าเจ้าไวยทัตสิ้นพระชนม์ในสนามรบ ทหารก็แตกหนีถอยร่นเข้าเมือง จึงคิดจะตัดกำลังข้าศึกไม่ให้ทหารฝ่ายตรงข้ามตีเข้าไปในเมืองและคิดจะหนีออกจากเมือง พระนางกาไวจึงสั่งการให้ทหารเอาทรัพย์สิน  แก้ว แหวน เงิน ทอง หว่านให้ทหารของเจ้าวงษ์สุริยมาศตามแนวรบซึ่งล้อมไปด้วยกอไผ่ และให้ทหารประกาศว่าในเมืองไม่มีอะไรเหลือแล้ว เพราะได้นำมาออกมาหว่านจนหมดแล้ว ทหารของเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศก็ต่างพากันเก็บแก้ว แหวน เงิน ทอง จนลืมการสู้รบ  (ปัจจุบันบริเวณที่หว่านแก้ว แหวน เงิน ทอง เรียกว่า วัดทองทั่ว มีทุ่งล้อมรอบ)  ฝ่ายพระนางกาไวได้รวบรวมทรัพย์สินที่มีค่าเตรียมหนีออกไปทางทิศใต้ของเมือง แต่ได้พบกับกองทัพของเจ้าบริพงษ์ขับทหารล้อมเข้ามา พระนางกาไวหนีออกไปไม่ได้จึงกลับเข้าไปในเมืองและเอาทรัพย์สินมีค่าทิ้งลงในเว็จ (เว็จ แปลว่ว ส้วม แต่ก่อนมีคนพยายามขุดหาทองคำจะได้หรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่เล่ากันว่าพอขุดลงไปในดินใกล้ถึงทองก็มีเสียงดังลั่นบันดาลให้ทองคำหนึหายลึกลงไป) พระนางกาไวได้นำเอาทองรูปพรรณต่างๆ  ทิ้งลงไปให้มากที่สุด แล้วในที่สุดพระนางกาไวก็หนีเข้าห้องบรรทมแล้วดื่มยาพิษที่ชื่อว่า "มหาไว"  สิ้นพระชนม์อยู่ในห้องบรรทม

เจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศ เมื่อได้รับชัยชนะยืดเมืองกาไวได้แล้ว  ก็พักกองทัพอยู่ในเมือง จัดการเกี่ยวกับราชทรัพย์ที่รวบรวมได้เสร็จแล้วก็บูรณะเมือง ปลอบขวัญไพร่พล เมื่อจัดการฝ่ายในเมืองเรียบร้อยแล้ว ทรงยาตราทัพไปที่สระตักบาตร(ปัจจุบันเรียก สระกะบาก) เพื่อทำบุญตักบาตรเพื่อฉลองชัยชนะ  (สระนี้ขุดในสมัยเจ้าบริพงษ์และเจ้าวงษ์สุริยมาศยกทัพมารบ เพื่อใช้น้ำ ปัจจุบันนี้อยู่บริเวณบ้านดาวเรือง ตำบลพลับพลา หมู่ที่ 10)  ส่วนประชาชน ไพร่พลใครจะสมัครใจอยู่ที่เดิมก็ทรงอนุญาตให้อยู่กันต่อไป แต่ถ้าใตรอยากไปกับพระองค์ก็ให้ไปด้วยได้  เมื่อฉลองชัยชนะที่สระตักบาตรเสร็จแล้วทรงมาสร้างวัดพลับพลาเพื่ออุทิศให้กับไพร่พลที่เสียชีวิตในสนามรบ  เมื่อวัดพลับพลาเสร็จเรียบแล้วทรงให้ชื่อว่า วัดพลับพลาชัยคีรี ที่หน้าอุโบสถให้วาดรูปเจ้าวงษ์สุริยมาศทรงช้างรบชนะเจ้าไวยทัตไว้เป็นที่ระลึก หลังจากนั้นก็เสด็จยาตราทัพไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บริเวณเขาสามสิบ แล้วให้ชื่อว่า เมืองสามสิบ ปัจจุบันนี้เป็นเมืองร้างอยู่ในอำเภอโป่งน้ำร้อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น